โทรศัพท์ : 0-2467-4312  
  โทรสาร : 0-2868-6290

เอกชนจี้รัฐเร่งแก้ปัญหามาบตาพุด ชี้หากช้าเงินหายแสนล้าน

"เอกชน" วอนคณะทำงาน 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด ลดเวลาทำ HIA ชี้หมดเวลาชักช้าแล้ว หวังลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน ลดปัญหาการฟ้องร้อง ช่วยแรงงานไม่ให้ตกงานเพิ่ม …

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะทำงาน 4 ฝ่าย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ระบุว่า จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับกรอบการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ในเร็วๆนี้ และคาดว่ากระบวนการจัดทำ HIA จะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนเสร็จนั้น ทางภาคเอกชนเห็นว่า หากสามารถร่นระยะเวลาให้กับ 65 กิจการที่โดนระงับกิจการเป็นกรณีพิเศษให้เหลือน้อยสุด 3-4 เดือนได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบต่ำที่สุดจากการระงับกิจการ นอกจากนั้น อยากให้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาเป็นเจ้าภาพดูแลเหมือนกับการบริการอื่นจากภาครัฐที่เป็นแบบครบวงจรหรือ One Stop Service
"ผมเห็นว่าหากทุกฝ่ายมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติ
ตามกฎหมาย การดำเนินการแก้ไขก็น่าจะเร็วขึ้น เพราะยิ่งระงับกิจการนานเพียงใด ผลกระทบก็จะมีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งต่อเงินลงทุน การจ้างงาน ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อสถาบันการเงิน และที่สำคัญอาจจะมีการฟ้องร้องตามมา ซึ่งเชื่อว่าหากทำให้เร็วได้โอกาสการฟ้องร้องก็จะมีน้อยลง เพราะจริงๆแล้วหากไม่จำเป็นเชื่อว่าเอกชนก็ไม่ต้องการจะทำอย่างนั้น"

นายสันติกล่าวต่อว่า หากพิจารณากิจการที่ถูกระงับกิจการ 65 กิจการในขณะนี้แล้ว แทบจะไม่ได้เข้าข่ายเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนร้ายแรงแต่อย่างใด ซึ่งควรจะต้องทำให้มีความชัดเจนในคำจำกัดความด้วย หากไม่เช่นนั้นความเชื่อมั่นจะไม่กลับมาแน่ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่กิจการที่เข้ามาลงทุนในไทยจะโดนระงับอีกก็จะมีสูง เพราะจะต้องมีการมาตีความอีกครั้ง และหากยึดหลักการของการจัดทำ HIA จากกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรุนแรง เชื่อว่าหลายกิจการมีโอกาสจะยื่นอุทธรณ์ขอเพิกถอนจากการระงับกิจการได้อีก รวมไปถึงกิจการที่ผ่าน EIA ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 บังคับใช้

ยังขืนช้าปีหน้าเงินหายแสนล้าน

ดังนั้น หากปล่อยให้ความไม่ชัดเจนยิ่งล่าช้าออกไป จะมีผลต่อความเชื่อมั่นและจะกระทบต่อการลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาในปี 2553 โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ในประเภทอุตสาหกรรมหนัก ทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหล็ก โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่แต่ละปีจะเข้าประเทศไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท อาจหยุดชะงักและมองหาประเทศอื่นแทน ซึ่งกิจการเหล่านี้มีเม็ดเงินลงทุนค่อนข้างสูง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องวางความชัดเจนว่า กิจการประเภทใดแน่ที่เข้าข่ายเป็นกิจการรุนแรงเพื่อปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญปี 2550

ด้านนายบวร วงศ์สินอุดม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสปฏิบัติการ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์ และการกลั่น กล่าวว่า การลงทุนใหม่ของไทยในภาพรวมขณะนี้คงยังไม่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เนื่องจากจะต้องรอความชัดเจนถึงมาตรการในการหาทางออกของการระงับกิจการ 65 โครงการให้ได้เสียก่อน แน่นอนว่าหากทุกอย่างยังออกมาในลักษณะคลุมเครือไม่ชัดเจนถึงแนวทางในการปฏิบัติเชื่อว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคงจะมองหาที่อื่นแทนโดยเฉพาะประเทศเวียดนาม

"วันนี้คงไม่ต้องมองไปถึงว่าปิโตรเฟส 4 จะเกิดหรือไม่ เพราะเอาที่มีอยู่วันนี้ให้เดินได้ก่อนแล้วค่อยคิดเพราะหากมาบตาพุดยังเป็นปัญหาอยู่ ต้องถามว่าแล้วพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาเทิร์นซีบอร์ดจะเกิดได้หรือ เวลานี้ทุกอย่างมันอยู่ที่การบริหารจัดการ อย่างกรณีรถยนต์ใน กทม.แต่ก่อนมีปัญหามลพิษเพิ่มขึ้น ทำไมวันนี้มันยังอยู่ได้" นายบวรกล่าว

"อมตะ" เซ็งนักลงทุนส่อเลิกซื้อที่

ขณะที่นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศ เช่น นักลงทุนญี่ปุ่น และอื่นๆ กว่า 10 ราย วงเงินลงทุนรวม 1 แสนล้านบาท แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปการเจรจาซื้อที่ดินในพื้นที่นิคมฯ อมตะได้ เนื่องจากบริษัททุนข้ามชาติกังวลถึง 3 ปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และความไม่ชัดเจนของ 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับชั่วคราว

"ลูกค้ากว่า 10 ราย ซึ่งเป็นรายใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องมือทางการเกษตร อาหาร ได้เจรจามาตั้งแต่ต้นปี 52 แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่ ซึ่งหากปัญหาการเมืองและมาบตาพุดไม่มีทิศทางที่ชัดเจน มองว่าโอกาสที่เม็ดเงินเหล่านี้จะย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยเฉพาะประเทศเวียดนามก็มีสูง แต่หาก 3 ปัจจัยเสี่ยงทุเลาลงอย่างรวดเร็วเชื่อว่าเกือบทั้งหมดจะเข้ามาลงทุนได้แน่นอน และทำให้อมตะขายที่ดินเพิ่มเกือบ 1,000 ไร่"

นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น เรื่องนี้คงส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมไทยภาพรวมแน่นอน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ เพื่อนำมาผลิตสินค้าต่อไป ซึ่งหลังจาก 65 โครงการถูกระงับ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าบางส่วนต้องนำเข้าวัตถุดิบในราคาที่สูง จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาพรวมมากขึ้นด้วย

สำหรับการขายพื้นที่ดินในนิคมฯอมตะในปี 52 นั้น ในขณะนี้คาดว่าอมตะจะขายพื้นที่แก่นักลงทุนได้ทั้งสิ้น 300 ไร่ ลดลงจากปีก่อนที่มียอดขายถึง 900 ไร่ มากถึง 600 ไร่ ขณะที่แนวโน้มในปี 53 นี้ ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่า บรรยากาศการลงทุนในไทยจะเป็นอย่างไร เพราะยังมีความเปลี่ยนแปลงสูงมาก ซึ่งจำเป็นต้องรอให้ผ่านไตรมาสแรกก่อน (ม.ค.-มี.ค.53) จึงจะตั้งเป้าหมายได้.

ข้อมูลจาก


Copyright ©2003 Science & Technology Service Co.,Ltd.